วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

IT Update!!!









กลายเป็นหนึ่งในประเด็นฮอตที่สุดแห่งแวดวงข่าวไอทีช่วงนี้ก็ว่าได้ สำหรับการออกมาเผยข้อมูลพฤติกรรมการออนไลน์ของยูสเซอร์ทั้งไทยและเทศพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายของบริษัทแวดวงไอที-สื่อสาร-โฆษณาหลายแห่ง แถมยังมาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ เพื่อบอกเล่าความเป็นจริงในโลกไซเบอร์วันนี้ว่า...เหตุผลที่คน "คลิก" มากขึ้นเรื่อยๆ กำลังสะท้อนให้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างหรือไม่

ล่าสุดกับการโชว์ผลสำรวจฉบับเขย่าโลกออนไลน์ไทยของ "แพน เอเชีย-แปซิฟิก ครอส มีเดีย เซอร์เวย์ (แพ็กซ์)" ทำให้ได้รู้ความเป็นจริงว่า คอไซเบอร์วันนี้ไม่ได้มีแค่เด็กๆ หรือวัยรุ่นเท่านั้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุดของประเทศพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ที่ออนไลน์ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 25-34 ปี ด้วยสัดส่วนถึง 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้บริหารระดับสูงถึง 92%

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบการใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตของยูสเซอร์เหล่านี้ก็พบว่า สัดส่วนการใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตแซงหน้าทีวีแล้วเรียบร้อย โดยอยู่บนโลกออนไลน์ถึง 43% เทียบกับทีวี 38% แมกกาซีน 10% และหนังสือพิมพ์เพียง 9% แถมยังมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามเทรนด์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้น การออนไลน์ส่วนใหญ่ก็เพื่อการใช้งานอีเมล คุยกับเพื่อนผ่านโปรแกรมสนทนา ซึ่งมากถึงขนาดที่ว่าคนไทยแชทติดอันดับ 2 ของเอเชียรองจากไต้หวัน โดยเป็นที่รู้ๆ กันว่า โปรแกรมสนทนาที่ฮิตที่สุดในไทยขณะนี้ก็ยังเป็น "วินโดว์ส ไลฟ์ แมสเซ็นเจอร์" จากค่ายไมโครซอฟท์

ผลสำรวจฉบับดังกล่าวยังเจาะลึกลงไปถึงขนาดที่ว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีรายได้สูงกว่าผู้ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน ก็ยังมีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการท่องเที่ยวมากกว่า โดยนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อหาข้อมูล รวมทั้งจองโรงแรม หรือทริปท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจแนวโน้มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก จากแหล่งที่น่าเชื่อถืออีกรายอย่าง "globalwebindex.net" ก็พบว่าแรงขับเคลื่อนหลักๆ ที่ทำให้คนหันหน้าเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น 3 อันดับแรก นั่นก็คือ อัพเดทข่าวสาร ค้นหาข้อมูล/หาซื้อสินค้า และติดต่อสื่อสารกับเพื่อนด้วยสัดส่วนที่มากกว่า 40% ขึ้นไป

นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ยังมีกิจกรรมบนโลกออนไลน์คล้ายคลึงกัน คือ ดูคลิปวีดิโอ และทำธุรกรรมออนไลน์ ในอัตราส่วนที่มากกว่า 60% ขึ้นไป

หากเมื่อมองตามภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจพบว่า ตลาดเว็บเกิดใหม่ รวมทั้งในไทยมีแรงผลักทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต โดย "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ถือเป็นสิ่งที่นำให้คนเริ่มเข้ามาเรียนรู้การใช้งานเว็บไซต์มากขึ้น

บริษัทวิจัยตลาด "ไอดีซี" ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ใช้งานบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ พร้อมที่จะใช้ "มือถือ" เป็นช่องทางเชื่อมต่อ ในฐานะที่เป็นทางเลือกของอุปกรณ์เข้าสู่โลกออนไลน์

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าบางประเทศ อาทิเช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ผ่านมือถือทุกๆ สัปดาห์ โดยพบผู้ใช้งานมากถึง 65% ในไทย ซึ่งผู้ใช้จะรับข้อมูลข่าวสาร ตอบรับข้อความสั้น อัพโหลดภาพ หรืออัพเดทสถานะของตัวเองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านเบราเซอร์บนมือถืออย่างสม่ำเสมอ

ในทางกลับกัน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ พบว่ามีสัดส่วนของผู้ใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ผ่านมือถือน้อยที่สุดเพียง 19% และ 25% ตามลำดับ

ผลสำรวจของไอดีซี ยังพบว่ากลยุทธ์การกำหนดราคาของผู้ให้บริการมือถือ มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ยังไม่เคยใช้งาน หนีการใช้บริการการเชื่อมต่อเครือข่ายสังคมผ่านมือถือ โดยจากข้อมูลของผู้ใช้งานในปัจจุบันส่วนใหญ่ที่ไม่เคยล็อกอินเข้าใช้งานผ่านมือถือมาก่อนนั้นเชื่อว่า อัตราค่าบริการที่แพงกำลังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาด

จากผลสะท้อนอีกด้านหนึ่งของพฤติกรรมการออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไป กำลังทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อแวดวงธุรกิจโฆษณา และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่ง "สื่อออนไลน์" กำลังถูกเลือกเป็นช่องทางใหม่ในการสื่อสารทางการตลาด ที่สุดแล้วก็มาถึงคำถาม และความท้าทายเดียวที่มีตอนนี้ คือ

วันนี้เราเตรียมพร้อมมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้กันแล้วหรือยัง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น